รู้จักกับการส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์จาก BOI ฉบับเข้าใจง่าย
รู้จักกับการส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์จากBOI ฉบับเข้าใจง่าย
BOI (Board of Investment) หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการส่งเสริมการลงทุนทั้งในประเทศและการลงทุนของไทยในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศของเราก้าวพ้นการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง (Middle Income Trap) ไปจนถึงเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจ
แต่การนำบริษัทของเราเข้า BOI หรือการที่ BOI เข้ามาสนับสนุนและส่งเสริมการทำธุรกิจนั้น ๆ จะมีข้อดีอย่างไร วันนี้แอดมินจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับสิทธิประโยชน์เมื่อได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ฉบับเข้าใจง่ายกัน
การลงทุนในประเทศไทยมีข้อดีอย่างไร
ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจก่อนว่า ประเทศไทยของเรานั้นมีจุดแข็งอยู่หลายประการที่จะสามารถสร้างผลกำไรหลาย ๆ อย่างกลับสู่ภาครัฐและเอกชนภายในประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากร ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และจุดแข็งด้านอื่น ได้แก่
- แรงงานทักษะฝีมือที่มีคุณภาพและมีจำนวนมากกว่าประเทศอื่น
- วัตถุดิบทางการเกษตรที่มีศักยภาพทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ นอกจากนี้มีผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย เช่น ข้าว ยางพารา อ้อย ผักและผลไม้สด เป็นต้น
- ที่ตั้งเหมาะสมในด้านการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ทำให้มีข้อได้เปรียบหลายอย่างโดยเฉพาะการขนส่งและการคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ ไปจนถึงทางอากาศ
สิทธิประโยชน์เมื่อได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI
สิทธิประโยชน์ด้านภาษี
- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี (ขึ้นกับประเภทกิจการและเงื่อนไข)
- ลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% อีก 5 ปี (เฉพาะเขตส่งเสริมการลงทุน)
- ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
- ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบผลิตเพื่อการส่งออก
- ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา
สิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษี
- อนุญาตต่างชาติถือหุ้น 100% (ยกเว้นกิจการตามบัญชีหนึ่งท้ายพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวหรือที่มีกฎหมายอื่นกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ)
- อนุญาตให้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน
- อนุญาตให้ช่างฝีมือ/ผู้ชำนาญการเข้ามาทำงาน
8 ประเภทกิจการที่ BOI ให้การส่งเสริมการลงทุน
- เกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร เช่น กิจการปลูกไม้เศรษฐกิจ, กิจการปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยเคมี, กิจการด้านการเกษตรกรรมต่าง ๆ
- แร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นพื้นฐาน เช่น กิจการเหมืองแร่ ตัดและผลิตโลหะ, กิจการผลิตแก้วและเซรามิคส์
- อุตสาหกรรมเบา เช่น กิจการสิ่งทอ, กิจการผลิตกระเป๋าหรือรองเท้า, กิจการผลิตของเล่น
- ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง เช่น กิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และเครื่องจักร
5. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น กิจการซอฟท์แวร์และการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
- เคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ เช่น กิจการผลิตบรรจุภัณฑ์จากกระดาษ, กิจการผลิตยา, กิจการผลิตพอลิเมอร์
- การบริการและสาธารณูปโภค เช่น กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากขยะ หรือเชื้อเพลิงจากขยะ, กิจการนิคมและการพัฒนา, กิจการ Cloud service
- การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น กิจการพัฒนาไบโอเทคโนโลยี, กิจการพัฒนานาโนเทคโนโลยี, กิจการพัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยี
หลักเกณฑ์การอนุมัติโครงการ
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI มีหลักเกณฑ์ในการอนุมัติโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน ดังนี้
1. การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ
- ต้องมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของรายได้ ยกเว้นกิจการเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร กิจการอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนและกิจการตัดโลหะ ต้องมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของรายได้
- ต้องมีกรรมวิธีการผลิตที่ทันสมัย
- ต้องใช้เครื่องจักรใหม่ กรณีการใช้เครื่องจักรใช้แล้วจากต่างประเทศ มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1.1 เครื่องจักรใช้แล้วที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้ในโครงการ และให้นับเป็น เงินลงทุนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ต้องมีอายุไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่ปีที่ผลิตถึงปีที่นำเข้า โดยต้องได้รับใบรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้ ในด้านประสิทธิภาพของเครื่องจักร ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงาน รวมทั้งการประเมินราคาที่เหมาะสม
1.2 สำหรับเครื่องจักรใช้แล้วที่มีอายุเกิน 5 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับตั้งแต่ปีที่ผลิตถึงปีที่นำเข้า ที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้ในโครงการ และให้นับเป็นเงินลงทุนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ได้แก่ เครื่องปั๊มเท่านั้น โดยต้องได้รับใบรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้ ในด้านประสิทธิภาพของเครื่องจักร ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงาน รวมทั้งการประเมินราคาที่เหมาะสม
1.3 สำหรับกิจการขนส่งทางเรือ กิจการขนส่งทางอากาศ และแม่พิมพ์ จะอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรใช้แล้วที่มีอายุเกิน 10 ปีในโครงการได้ตามความเหมาะสม โดยให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า และให้นับเป็นเงินลงทุนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
2. เงินลงทุนขั้นต่ำและความเป็นไปได้ของโครงการ
- ต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำของแต่ละโครงการไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) เว้นแต่กรณีที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะในบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนท้ายประกาศทั้งนี้
- สำหรับกลุ่มธุรกิจบริการที่ใช้ฐานความรู้เป็นปัจจัยหลักในการดำเนินธุรกิจ ให้พิจารณาเงินลงทุนขั้นต่ำจากเงินเดือนบุคลากรต่อปี ซึ่งจะกำหนดไว้เป็นการเฉพาะในบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุน
- ต้องมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจดทะเบียนไม่เกิน 3 ต่อ 1 สำหรับโครงการริเริ่ม ส่วนโครงการขยายจะพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นรายกรณี
- โครงการที่มีเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) มากกว่า 750 ล้านบาท ต้องเสนอรายละเอียดรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตามที่คณะกรรมการกำหนด
ขั้นตอนการขอรับการส่งเสริมและการใช้สิทธิประโยชน์จาก BOI
ความยากง่ายในการขอขอรับการส่งเสริมจาก BOI
การนำบริษัทหรือกิจการสมัครเข้ารับขอการส่งเสริมจากเข้า BOI หรือที่เราเรียกกันง่าย ๆ ว่านำบริษัทเข้า BOI นั้นไม่ใช่เรื่องยากแต่ต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบ ทั้งในด้านการจัดเตรียมเอกสาร การตรวจสอบเงื่อนไขว่ากิจการของเราตรงกับเงื่อนไขที่ทาง BOI กำหนดหรือไม่ หากเงื่อนไขตรงตามที่ BOI กำหนดก็สามารถยื่นคำขอได้เลยโดยไม่ต้องกังวล แต่ที่สำคัญก็คือการเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนตามคู่มือยื่นคำขอจากทาง BOI เพราะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขนั้นไม่ยาก แต่สิ่งที่ต้องเอาใจใส่มาก ๆ คือเรื่องเอกสารต่าง ๆ
หากสงสัยว่า BOI มีแนวทางในการทำงานในการสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการ ธุรกิจ หรือ SME ไทย อย่างไรบ้าง สามารถติดตามได้จากคลิปด้านล่างนี้
สรุป
ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการผู้เช่าโรงงาน เช่าโกดัง หรือมีสถานประกอบการเป็นของตัวเองก็สามารถยื่นคำขอเข้ารับการส่งเสริมจาก BOI ได้หากกิจการของเราตรงตามเงื่อนไขที่ทาง BOI กำหนด อย่าลืมนะถ้ากิจการของเราตรงตามหลักเกณฑ์ล่ะก็ การขอรับการสนับสนุนจาก BOI จะช่วยให้เราได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มากมายซึ่งดีต่อธุรกิจของเราแน่นอน
ขอบคุณบทความจาก : https://www.proindsolutions.com/